ปลูกข้าว แบบตัดตอซัง
การทำนาแบบตัดตอซัง สาเหตุเกิดจากการที่เกษตรกรได้รับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในช่วงฤดูฝน ช่วงเดือนมิถุนายน ถึง กันยายนของทุกปี หลังจากทำนาปรับแล้วจึงไม่คิดที่จะทำการไถหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปใหม่เพราะกลัวน้ำจะท่วมเหมือนทุกปี จึงทดลองตัดตอซังข้าวดู เพื่อให้ข้าวแตกหน่อใหม่อีกครั้ง แล้วปล่อยน้ำให้ท่วมทั้งแปลงนาข้าว หลังจากนั้นต้นข้าวจะแตกหน่อขึ้นมาใหม่ สามารถให้ผลผลิตดีประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ไม่ต้องไถ และไม่ต้องเสี่ยงกับน้ำท่วมเมล็ดพันธุ์ข้าวอีกด้วย           
การปลูกข้าวแบบตัดตอซัง          
วิธีการปฏิบัติ
1.      หลังทำการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว 2 สัปดาห์จึงทำการตัดตอซังข้าว โดยการใช้เครื่องตัดหญ้าตัดตอต้นข้าวให้เหลือแต่ตอแล้วเก็บฟางข้าวออกจากแปลงนา
2.      ให้ปล่อยน้ำเข้าแปลงนาข้าวที่ทำการตัดตอไว้ให้ทั่วทั้งแปลงเพื่อเลี้ยงตอข้าวให้แตกหน่อ

3.      หลังจากการปล่อยน้ำเข้าแปลงนา ประมาณ 15 วัน จึงทำการใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตราเฉลี่ย 5 กิโลกรัม/1 ไร่ เพื่อบำรุงหน่อและรากข้าวให้มีความแข็งแรงพร้อมที่จะเจริญเติบโตเป็นลำต้นที่สมบูรณ์ต่อไป
4.      ควรหมั่นตรวจดูแปลงนาข้าว ถ้ามีโรคหรือแมลงรบกวนให้ใช้สารสกัดสมุนไพรทำการฉีดพ่นเพื่อไล่แมลงศัตรูข้าวและเป็นการลดต้นทุนของเกษตรกรด้วย ความถี่ของการฉีดพ่นขึ้นอยู่กับปริมาณของศัตรูพืชที่ได้จากการสังเกตแปลงนาข้าวอย่างสม่ำเสมอ
5.      ทำการฉีดพ่นปุ๋ยน้ำชีวภาพอีกประมาณ 2 ถึง 5 ครั้ง ก่อนจะถึงการเก็บเกี่ยว ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของต้นข้าวและน้ำจะต้องหล่อเลี้ยงต้นข้าวอยู่ตลอด
6.      ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดหลังอายุหน่อข้าวได้ 1 เดือน หรือ 30 วัน
7.      การเก็บเกี่ยวควรระบายน้ำออกจากแปลงนาข้าวให้หมดและให้ดินแห้ง เพราะดินที่ไม่ได้ระบายน้ำออกจากแปลงนาข้าวให้หมด จะล่มเนื่องจากเราทำการตัดตอซัง   
        
ปัญหาที่พบในการทำนาแบบตัดตอซังข้าว
1.      ถ้าไม่มีการเก็บตอซังหรือฟางข้าวออกจากแปลงนา จะมีปัญหาตามมาในภายหลังในเรื่องของสิ่งจำเป็น
2.      ถ้ามีการตัดตอซังหลายครั้งติดต่อกันเกิน 2 ครั้งขึ้นไป ดินนาจะหล่ม
3.      น้ำหนักผลผลิตทีได้จะเบากว่าการไถหว่านใหม่
สำหรับแปลงนาที่จะทำการตัดตอซังข้าว กรณีใช้รถเกี่ยวก่อนที่จะนำรถมาเกี่ยวข้อควรปล่อยน้ำออกจากแปลงนาเพื่อให้ดินแห้ง เวลารถเกี่ยวข้าวเข้าไปเกี่ยวจะได้ไม่เหยียบย่ำต้นข้าวเสียหาย เพราะดินอ่อนตัวเป็นหลุมตอข้าวจะเสียหายมากกว่า และหลังจากเกี่ยวเสร็จแล้วควรกระจายฟางให้ทั่วหรือไม่ก็ทำการอัดฟางก้อนเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์แล้วจึงทำการตัดตอข้าว          
การตัดตอซังเหมาะสำหรับพื้นที่นาที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในฤดูน้ำหลากเป็นการลดความเสี่ยงจากการถูกน้ำท่วมและเป็นการลดต้นทุนการผลิต ในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ การไถพรวนดิน และแรงงาน
เจ้าของผลงาน : นายยอดฝ้ายเทศ เลขที่ 11 หมู่ที่ 9 บ้านเกาะ ตำบลทับผึ้ง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย โทรศัพท์ 086-589-5610 แหล่งที่มาของข้อมูล :กรมส่งเสริมการเกษตร
 
สงวนลิขสิทธิ์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | เสนอแนะ-ติชม webmaster@moac.go.th | Call Center 1170