เกษตรกรดีเด่น ระดับประเทศสาขาอาชีพ ทำนา ประจำปี 2554/2555

ภูมิหลัง ประวัติชีวิตและแรงบันดาลใจ          
นายไพโรจน์  พ่วงทอง  เกิดในครอบครัวที่ประกอบอาชีพทำนา  ในวัยเด็กได้ช่วยเหลือพ่อและแม่ทำนามาโดยตลอด  หลังจากจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  แล้วยังคงช่วยเหลือพ่อแม่ทำนา โดยการทำนาดำ ใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง  ซึ่งได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ          
ในปี 2538 หลังจากแยกครอบครัวแล้วก็ยังคงประกอบอาชีพการทำนา ในพื้นที่ 5 ไร่ โดยการปักดำ ได้ผลผลิต 300 - 400 กิโลกรัม./ไร่  ต่อมาได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร  และเข้ารับการฝึกอบรมการทำนาหว่านน้ำตม พร้อมทั้งไปศึกษาดูงานการทำนาหว่านน้ำตมที่ประสบผลสำเร็จในหลายจังหวัด  หลังจากนั้นได้เปลี่ยนการทำนาดำเป็นนาหว่านน้ำตม โดยใช้พันธุ์ข้าว กข.11 ได้ผลผลิต 800 - 900 กิโลกรัม/ไร่  จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกข้าวขึ้นอีก  ในปัจจุบันมีพื้นที่ทำนาหว่านน้ำตมทั้งหมด 40 ไร่        
 การทำนาหว่านน้ำตม  มีอุปสรรคในการเตรียมดิน คือ ฟางข้าวที่มาติดผานไถ ทำให้เสียเวลาในการไถนา จึงคิดหาวิธีการปรับเปลี่ยนวิธีการไถ  โดยติดเครื่องกระจายฟางข้าวกับรถไถนา ซึ่งได้ผลดี มีเกษตรกร  เช่น นายทวีศักดิ์  เปี่ยมศักดิ์  นำไปปรับใช้ในแปลงนา และมีเกษตรกรใกล้เคียงใช้อย่างแพร่หลาย 
การประกอบอาชีพ และงานที่ภาคภูมิใจ           
ปัจจุบันได้มีการทำนาหว่านน้ำตม โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การเตรียมดินโดยใช้เมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสด การหมักฟางข้าวและกำจัดวัชพืชในแปลงนาโดยใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายวัชพืชให้เน่าเปื่อย การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยการใช้ฮอร์โมนรกหมู และการดูแลรักษาต้นข้าวด้วยจุลินทรีย์ ปุ๋ยหมักชีวภาพ ปล่อยแตนเบียนเพื่อรักษาระบบนิเวศในนาข้าว ในกรณีที่ข้าวขึ้นไม่สม่ำเสมอ ทำการซ่อมกล้าโดยใช้เครื่องมือซ่อมกล้าข้าว เพื่อลดการช้ำของต้นข้าว และให้ต้นข้าวขึ้นสม่ำเสมอในแปลงนา           
สิ่งที่ภาคภูมิใจ คือ มีการประดิษฐ์ คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการจัดการการปลูกข้าว โดย ปรับเปลี่ยนใช้พันธุ์ข้าวแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งมีดินเค็ม โดยใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 นำมาปลูกในแปลงนาที่ดินมีปัญหาดินเค็ม ซึ่งประสบผลสำเร็จ โดยได้ผลผลิตเฉลี่ย 720 กิโลกรัมต่อไร่  ประดิษฐ์ และคิดค้นเครื่องมืออุปกรณ์ซ่อมกล้าข้าว ซึ่งประหยัดแรงงาน เวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้าข้าวไม่ชะงัก และตั้งตัวได้เร็ว ปัจจุบันมีเกษตรกรนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ประดิษฐ์เครื่องกระจายฟางข้าว เพื่อลดแรงงาน และสะดวกในการเตรียมดินประดิษฐ์ และคิดค้นเครื่องมืออุปกรณ์กำจัดข้าวดีด ข้าวเด้ง  
นอกจากนี้สิ่งที่ภาคภูมิใจ คือ สามารถผลิตข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่หรือต่อหน่วยพื้นที่เกินค่าเฉลี่ยของชุมชน (850 กิโลกรัมต่อไร่) ผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่ (ปี2554) ทั้งฤดูนาปี จำนวน 1,040 กิโลกรัมต่อไร่ และ ฤดูนาปรัง จำนวน 1,170 กิโลกรัมต่อไร่   มีการผลิตที่ถูกหลักการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) โดยได้รับใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวเปลือก (Certificate for Good Agricultural Practice of Rice Production)          มีการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่ดี ใช้พันธุ์ข้าวตรงกับความต้องการของตลาด  และแบ่งพื้นที่ปลูกข้าว ตรงกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงในการผลิตแปรรูปผลผลิตข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวขาว ข้าวกล้อง และข้าวกล้องหอมนิล ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตแบบครบวงจร เน้นกลุ่มคนรักสุขภาพ มีรายได้เฉลี่ย 35,500 บาทต่อไร่ต่อปี  หลังการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูนาปีได้ปลูกพืชล้มลุก ได้แก่ แตงโม เป็นรายได้เสริมเพื่อรอการปลูกข้าวในฤดูนาปรังต่อไป และได้รับรางวัลแปลงเกษตรอินทรีย์ (ข้าวอินทรีย์) ชนะเลิศระดับจังหวัด ในปี 2549  จากสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี ส่วนในปี 2553/2554  ได้รับรางวัลที่ 3 ด้านนวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น  จนกระทั่งได้รับรางวัลการประกวดผลงานเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด  สาขาอาชีพทำนา  ได้รับรางวัลที่ 1 จากสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรีและสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2  จังหวัดราชบุรี ในปี 2552/2553 และ       ปี 2553/2554 และได้รับพระราชทานโล่รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาทำนา ปี 2555            
ความรู้ที่จำเป็นในการทำงาน
นายไพโรจน์ พ่วงทองหมั่นใฝ่หาความรู้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพอย่างสม่ำเสมอ โดยการศึกษาดูงานสถานที่จริงอย่างสม่ำเสมอ การประยุกต์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตข้าว ทั้งการลดต้นทุนการผลิต โดยใช้พืชสมุนไพรป้องกัน  และกำจัดศัตรูพืช  ปุ๋ยหมักชีวภาพ  ปุ๋ยน้ำหมักสูตรต่างๆ การแก้ปัญหาดินเค็ม โดยใช้พันธุ์ข้าว       ที่ทนเค็ม ได้แก่ พันธุ์ขาวดอกหอมมะลิ 105 หอมนิลดำ หอมนิลแดง และพันธุ์ข้าวไรท์เบอรี่มาปลูกขยายพันธุ์ และจำหน่ายเป็นข้าวเปลือกในตลาดเอกชน  โดยปลูกในระบบข้าวอินทรีย์  การเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูปผลผลิตในรูปของข้าวขาว ข้าวกล้อง จำหน่ายให้แก่กลุ่มต่างๆ และสมาชิก ผลิต/เพาะเชื้อจุลินทรีย์ เช่น  เชื้อป่า และขยายเชื้อจุลินทรีย์ไว้ใช้เอง เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ /สร้างสมดุล ในระบบนิเวศน์ และไว้บริการเกษตรกรอื่นๆ ที่สนใจ
นอกจากนี้นายไพโรจน์ พ่วงทองจัดทำแปลงเรียนรู้ โดยมีเกษตรกรทั้งในพื้นที่ และเกษตรกรในชุมชนใกล้เคียงเข้าศึกษาดูงาน และนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างกว้างขวาง และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ในด้านต่าง ๆ แก่ชุมชน เช่น การปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ การผลิตข้าวปลอดภัย การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และน้ำหมักชีวภาพ รวมทั้งเป็นวิทยากรบรรยายให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น เกษตรหมู่บ้านทั้ง 8 อำเภอในระดับจังหวัด บรรยายความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่นักเรียน โรงเรียนโยธินบูรณะ อาทิตย์ละ 1 วัน เป็นวิทยากรให้แก่หน่วยงานศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเขาย้อย          
แนวคิดในการทำงาน
"การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน คำนึงถึงระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม” 
หลักคิดในการประกอบอาชีพการเกษตร   
 "การประกอบอาชีพการเกษตรบนฐานความรู้ ทั้งการค้นคว้า แลกเปลี่ยน ประยุกต์ใช้ความรู้”  " การดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ” 
ประเด็นสำคัญในการเรียนรู้สู่ความสำเร็จ          
ในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวให้เกิดความสำเร็จ  มีปัจจัยสำคัญ  ดังนี้
1.    การสนใจ  ศึกษา  ค้นคว้าหาความรู้จากประสบการณ์ การศึกษาดูงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ที่สนใจ  และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตตลอดเวลา
2.    การใช้ความรู้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการทำการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ
3.    การวางแผนการผลิตและการตลาด โดยใช้ตลาดนำการผลิต สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตร
4.    การผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ในแปลงนา
5.    ต่อยอดความรู้โดยการเป็นวิทยากรถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจ  

 ชื่อ-นามสกุล    นายไพโรจน์   พ่วงทอง  อายุ   50   ปี    เกิดวันที่  25  ตุลาคม  พ.ศ 2506  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน   3-7602-00251-87-1      ที่อยู่  บ้านเลขที่  101 ตำบลบางเค็ม  อำเภอเขาย้อย  จังหวัดเพชรบุรี  โทรศัพท์  08-9260-6567 จบการศึกษาสูงสุดระดับ มัธยมศึกษาปีที่ 6 จากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย   อำเภอเขาย้อย .ข้อมูล   จากกรมส่งเสริมการเกษตร
 
สงวนลิขสิทธิ์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | เสนอแนะ-ติชม webmaster@moac.go.th | Call Center 1170